วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อสอบปลายภาค


คำสั่งข้อสอบมีทั้งหมด 7  ข้อ ให้นักศึกษาทำทุกข้อ ห้ามลอกกันเขียนคำตอบโดยใช้สำนวนเหมือนกันถือว่ามิใช่ความคิดของนักศึกษาเอง ปรับให้ตกทั้งคู่ ข้อละ 10 คะแนน

1. กฎหมายทั่วไปกับกฎหมายการศึกษา มีที่มาความเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร อธิบายพร้อมทั้ง      ยกตัวอย่างประกอบอย่างย่อ ๆ ให้ได้ใจความพอเข้าใจ.
ตอบ  กฎหมายทั่วไปกับกฎหมายการศึกษา มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและต่างกัน ในส่วนที่มีความเหมือนกัน คือ เป็นกฎหรือคำสั่งหรือข้อบังคับจากคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ เป็นข้อบังคับใช้กับคนทุกคนที่อยู่ในรัฐหรือประเทศนั้น ๆ จะต้องปฏิบัติตามและมีสภาพบังคับที่มีการกำหนดบทลงโทษ ส่วนที่แตกต่างกัน คือ กฎหมายทั่วไปจะเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรม ไม่ให้เกิดการกระทำผิด  หากมีการฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ ตัวอย่างเช่น แดงต้องการฆ่าดำ แดงรู้ว่าดำตื่นตอน 8 โมง และต้องดื่มน้ำที่มีผู้นำมาวางไว้ข้างเตียงทุกเช้า แดงนำน้ำผสมยาพิษไปวางตอน 7 โมง ดำตื่นมา 8 โมง ดื่มน้ำนั้นตาย แดงวางเองเป็นผู้กระทำความผิดด้วยตนเองแดงจะต้องได้รับโทษตามข้อกำหนดของกฎหมาย ส่วนกฎหมายการศึกษา จะเป็นกฎหมายที่ มุ่งไปสู่การพัฒนาคน  พัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรือง ธำรงไว้ซึ่งอิสรภาพ เสรีภาพของบุคคลละประเทศชาติ ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองไม่ส่งเด็กเข้าเรียน ตามที่กฎหมายกำหนดนั้นผู้ปกครองจะต้องถูกลงโทษโดยปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

2. รัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการศึกษา มีสาระหลักที่สำคัญอย่างไร ในประเด็นอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับ       การศึกษา ยกตัวอย่างประกอบ พอเข้าใจ (รัฐธรรมนูญตั้งแต่แต่ฉบับแรกถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2550)
ตอบ  สรุปสาระสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ละฉบับที่เกี่ยวกับการศึกษา พบว่า นับตั้งแต่ได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นและมีการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้มีวิวัฒนาการเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่เสรีภาพ การศึกษาอบรมให้กับ เด็กและเยาวชนให้เป็นผู้มีความสมบรูณ์ทั้งทางร่างกายจิตใจ สติปัญญา คุณธรรมจริยธรรม โดยมีแนวทางในการจัดการศึกษา รัฐจะต้องจัดการศึกษาและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้ คู่คุณธรรมเช่นกัน และจัดการศึกษาภาคบังคับให้เข้ารับการศึกษาอบรมโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สำหรับการศึกษาภาคบังคับ ต่อมาได้เพิ่มเติมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 12 ปีรัฐจะต้องจัดอย่างทั่ว ถึงและมีคุณภาพ พร้อมทั้งจัดให้มีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติหรือเรียกชื่อว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติขึ้น

3. พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ มีกี่มาตรา และมีความสำคัญอย่างไร และประเด็นหรือมาตราใดที่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติและต้องยึดถือปฏิบัติ 
 ตอบ  พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับมี 20 มาตรา พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคล ซึ่งอยู่ในความดูแล ได้รับการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปี  โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่ 7 เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนย่างเข้าปีที่ 16 เว้นแต่จะสอบได้ชั้นปีที่ 9 ของการศึกษาภาคบังคับ  จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประถมศึกษา มาตรา ๖ ให้ผู้ปกครองส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา เมื่อผู้ปกครองร้องขอ  ให้สถานศึกษามีอำนาจผ่อนผันให้เด็กเข้าเรียนก่อนหรือหลังอายุตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับได้  ทั้งนี้  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด

4. ท่านเข้าใจว่า หากมีใครเข้ามาปฏิบัติการสอนในโรงเรียนที่เปิดการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรณีสอนทั้งปีที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูนั้น สามารถมาปฏิบัติการสอนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้มีความผิดหรือบทกำหนดโทษอย่างไร  ถ้าได้จะต้องกระทำอย่างไรมิให้ผิด ตามพระราชบัญญัตินี้
ตอบ  สามารถปฎิบัติการสอนได้ แต่จะต้องมีคุณสมบัติตามที่คุรุสภาได้กำหนดไว้ คือ
 คุณสมบัติการพิจารณาอนุญาต
ผู้ที่จะขอเข้าประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
           1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
           2. มีคุณวุฒิตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
              (1) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า
              (2) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี  ที่ ก.ค.ศ.รับรอง  ซึ่งกำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครู  และเป็นวุฒิปริญญาในสาขาที่สอดคล้องกับระดับชั้นที่เข้าสอน ตามที่คุรุสภากำหนด ยกเว้นโรงเรียนในพระราชดำริ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนโครงการพิเศษต่างๆ ที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานต้นสังกัด และมีคะแนนเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป โรงเรียนถิ่นทุรกันดาร หรือโรงเรียนเสี่ยงภัย ตามประกาศของทางราชการ และจัดให้มีการอบรมในเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนเบื้องต้นด้วย
          3. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546
เงื่อนไขการอนุญาต
          1. สถานศึกษาชี้แจงเหตุผลความจำเป็น หรือความขาดแคลน ต้องรับบุคคลเข้าประกอบวิชาชีพครู 
          2. สถานศึกษาจะต้องแนบประกาศการรับสมัครและการสรรหาบุคคลเข้าประกอบวิชาชีพครู
          3.  สถานศึกษาจะต้องแนบคำสั่งของคณะกรรมการของสถานศึกษาในการคัดเลือกบุคคลเข้าประกอบชาชีพครู
          4. สถานศึกษาต้องขออนุญาตเป็นการเฉพาะราย ผ่านต้นสังกัด โดยจะต้องปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสืออนุญาตเท่านั้น ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารสถานศึกษา
         5. ระยะเวลาการอนุญาตครั้งละไม่เกิน ๒ ปี และต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต่อไป
         6. หากผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ฝ่าฝืนจรรยาบรรณของวิชาชีพ หรือปฏิบัติการสอนผิดเงื่อนไข หรือไม่สามารถพัฒนาตนเองตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการอนุญาต การอนุญาตดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุด

5. สมบัติ เป็นครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้ประพฤติผิดกระทำทารุณกรรมต่อเด็กหรือเยาวชน หากเราพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  จะต้องทำอย่างไร และมีบทลงโทษอย่างไร
ตอบ  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการกระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับโทษตามมาตรา 78 ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

6. ช่วงที่นักศึกษาไปทดลองสอนที่โรงเรียนเทอม 2  และในเทอมต่อไป นักศึกษาเข้าไปทดลองสอนจริง นักศึกษาคิดว่าจะนำกฎหมายการศึกษาไปใช้โดยกำหนดคนละ 2 ประเด็นที่คิดว่าจะนำกฎหมาย   ไปใช้ได้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ตอบ  1) การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยมีการจัดการเรียนการสอนยึดหลักที่ว่าผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ และสามารถพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ตัวอย่างเช่น
1.  มีการจัดเนื้อหาที่สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน
2.  ให้มีการเรียนรู้จากประสบการณ์และฝึกนิสัยรักการอ่าน
3.  จัดให้มีการฝึกทักษะกระบวนการและการจัดการ
4.  มีการผสมผสานเนื้อหาสาระด้านต่างๆ อย่างสมดุล ปลูกฝังคุณธรรม
5.  จัดการส่งเสริมบรรยากาศการเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และรอบรู้
6.  จัดให้มีการเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ด้วย
                2) ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้โดยผู้เรียนเป็นสำคัญ จะต้องประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง โดยมีการใช้วิธีการประเมินผู้เรียนหลากหลาย วิธี ได้แก่ การสังเกตพฤติกรรมการเรียนและการร่วมกิจกรรม การใช้แฟ้มสะสมงาน การทดสอบ การสัมภาษณ์ ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน เป็นต้น


7. ให้นักศึกษาสะท้อนความคิดการใช้ เว็บล็อก (weblog) ในการนำมาใช้จัดการเรียนการสอนวิชานี้   พอสังเขป
ตอบ วิชากฎหมายการศึกษา สำหรับดิฉันคิดว่าเป็นวิชาที่เน้นให้เราได้เรียนเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องของข้อตกลงหรือข้อบังคับต่างๆของกฎหมายที่เราควรรู้ ซึ่งในรายวิชานี้ก็จะประกอบไปด้วยเนื้อหาที่สำคัญค่อนข้างเยอะ และสอดคล้องกับยุคสมัยใหม่นี้เป็นยุคของเทคโนโลยี ในการนำเว็บล็อก (weblog)มาช่วยในการจัดการเรียนการสอนดิฉันเห็นด้วยว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่ง  เพราะเป็นการเรียนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เนื้อหาที่ได้สรุปไว้เราสามารถที่จะกลับไปศึกษาใหม่ได้ตลอดเวลา และนอกจากนี้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการสร้างเว็บล็อก (weblog)ซึ่งต่อไปข้างหน้าเมื่อเราไปเป็นครูเราสามารถที่จะนำเว็บล็อก (weblog)ไปประยุคใช้ในการนำไปสอนเด็กได้จริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น